10.ไขมันพอกตับคืออะไร- SGOT,SGPT สูง

ภาวะไขมันพอกตับ

การทำงานของตับผิดปกติมีค่า SGOT,SGPT สูง ค่าทั้งสองเป็นเอ็นไซม์ที่หลั่งออกมาจากตับ แสดงว่าตับได้รับอันตรายหรือมีการอักเสบ แพทย์จะส่งการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรือที่เรียกว่า ultrasound ส่งเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัส ซี บางรายอาจจะต้องเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อไปส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย หลังจากนั้นแพทย์จะแจ้งว่าท่านเป็นไขมันพอกตับ Fatty liver ทำให้ท่านตกใจกับผลตรวจ

 

ไขมันพอกตับคืออะไร

ไขมันในตับจะมีประมาณร้อยละ5-10 ของน้ำหนักตับ ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่ไขมันโดยเฉพาะ Triglyceride ไปอยู่ในเซลล์ตับมากกว่าร้อยละ10 ของน้ำหนักตับจะถือว่าเป็นไขมันพอกตับ

ชนิดของไขมันพอกตับ

1.ไขมันพอกตับจากการดื่มสุรา

เมื่อคนที่ดื่มสุราเป็นระยะเวลานาน เซลล์ของตับจะได้รับอันตรายในระยะแรกจะมีไขมันมาพอกที่ตับ ในระยะนี้หากหยุดดื่มสุราตับก็สามารถกลับสู่ปกติได้หลังหยุดดื่มสุรา 6 สัปดาห์ แต่หากยังดื่มสุราต่อเนื่อง ตับจะกลายเป็นตับแข็งซึ่งภาวะนี้จะไม่สามารถกลับสู่ปกติ นอกจากนั้นผู้ที่ดื่มสุราอย่างมากก็เกิดไขมันพอกตับแบบเฉียบพลันได้

2.ไขมันพอกตับของคนที่ไม่ได้ดื่มสุรา

ไขมันพอกตับชนิดนี้เรียกว่า Nonalcoholic fatty liver disease (NAFLD) หมายถึงภาวะที่ไขมันพอกตับโดยเฉพาะ triglyceride อยู่ในเซลล์ตับ โดยที่คนคนนั้นไม่ได้ดื่มสุรา (ปกติคนดื่มสุรามานานจะมีไขมันพอกตับ) เซลล์ไขมันจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดตับอักเสบในระยะแรก จะวินิจฉัยภาวะนี้เมื่อมีไขมันในตับมากกว่าร้อยละ10ของน้ำหนักตับ

3.ไขมันพอกตับและมีการอักเสบของตับ

แต่ผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันพอกตับทำให้เซลล์ตับมีการบวมและเกิดการอักเสบของตับ เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า nonalcoholic steatohepatitis (NASH) ในที่สุดก็จะกลายเป็นตับแข็ง Cirrhosis แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงเกิดการอักเสบของตับ พบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบ และตับแข็ง อาการของผู้ป่วยได้แก่

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ผิวเหลือง

4.ไขมันพอกตับในผู้ป่วยตั้งครรภ์

เป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยตั้งครรภ์พบไม่บ่อย มักจะเกิดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาศที่3 อาการที่สำคัญ

  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • เจ็บชายโครงขวา
  • ตัวเหลืองตาเหลือง
  • อ่อนเพลีย   ผู้ป่วยส่่วนใหญ่ดีขึ้นหลังจากคลอด

ไขมันพอกตับสามารถหายเองได้หากเราสามารถลดความเสี่ยง หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม